วันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประธานาธิบดีประกาศนำหลักพุทธธรรมใช้พัฒนาประเทศในที่ประชุมสหประชาชาติ

 ประธานาธิบดี ประกาศนำหลักพุทธธรรม 
 ใช้พัฒนาประเทศ ต่อหน้าผู้นำจากทั่วโลก 
 ในที่ประชุมสหประชาชาติ 


นับว่าเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ ผู้นำประเทศระดับประธานาธิบดีได้กล่าวต่อที่ประชุมสหประชาชาติท่ามกลางผู้นำจากทุกประเทศทั่วโลก ว่าจะใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการพัฒนาประเทศ และนี่คือการประกาศพระเกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนาในเวทีโลกอย่างงดงามอีกครั้งหนึ่ง โดยประเทศเล็กๆ ที่ชื่อว่า "ศรีลังกา"


แม้ว่าประเทศศรีลังกาจะเป็นประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ อยู่ใต้ประเทศอินเดีย แต่กลับมีบทบาทโดดเด่นเป็นที่จดจำได้อย่างมีเอกลักษณ์ของตนเองในเวทีโลก โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น การเสนอให้วันวิสาขบูชา Vesak Day เป็นวันสำคัญสากลของโลกได้สำเร็จก็เป็นฝีมือเริ่มต้นของประเทศเล็กๆ อย่างศรีลังกา ที่มีชาวพุทธประมาณ 70% ของประชากรเท่านั้น หรือแม้แต่ประเทศที่เล็กมากๆ และกันดารไม่มีทางออกทะเลอย่างประเทศภูฏาน ก็สามารถทำให้ทั่วโลกได้รู้จักและยกย่องในความเป็นผู้นำที่ใช้ดัชนีชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ มาเป็นตัวชี้วัดการพัฒนาประเทศ ซึ่งก็พัฒนามาจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา จนกลายเป็นกระแสการพัฒนาที่สำคัญของโลกอีกทางเลือกหนึ่ง


ล่าสุดประธานาธิบดีมหินท ราชปักษา แห่งประเทศศรีลังกา ได้ประกาศต่อหน้าผู้นำประเทศและผู้นำที่มีบทบาทเด่นในด้านต่างๆ จากทั่วโลก ในที่ประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่อง "เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ" Millennium Development Goals (MDGs) ณ กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า จะพัฒนาประเทศศรีลังกา บนพื้นฐานคุณค่าแห่งพุทธธรรม โดยได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์เดลี่มิเรอร์ ในกรุงนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2553 นอกจากนี้เขายังระบุถึงแผนงาน "มหินทจินตนา" ที่จะนำประเทศไปสู่ยุคหลังสงครามและมุ่งเน้นการพัฒนาไปให้ถึงในระดับหมู่บ้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหสวรรษ ตามกำหนดภายใน 5 ปีนี้ให้ได้สำเร็จด้วย


เมื่อเทียบบทบาทบนเวทีโลกของประเทศศรีลังกา กับประเทศที่ใหญ่และร่ำรวยกว่าอย่างประเทศไทยแล้ว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประเทศพุทธศาสนา มีพุทธศาสนิกชนมากกว่า 95% ของจำนวนประชากรของประเทศ ก็ทำให้ตั้งข้อสังเกตได้หลายอย่างว่า ทำไมประเทศไทยจึงไม่อาจมีบทบาทเด่นเชิงสร้างสรรค์ในเวทีโลกได้ ไม่มีเอกลักษณ์แห่งการจดจำที่โดดเด่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำพระพุทธศาสนามาใช้ในการบริหารและพัฒนาประเทศให้ปรากฏเป็นที่รับรู้ทั้งในระดับสากลและของคนไทยเองเลย ทั้งๆ ที่เรามีประชากรชาวพุทธในจำนวนเปอร์เซนต์ที่ถือว่ามากที่สุดในโลก และเป็นศาสนาที่อยู่คู่บ้านเมืองเรามาตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์สร้างชาติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันไม่มีขาดช่วงเลย   มันจึงเป็นคำถามที่สำคัญว่าเกิดอะไรขึ้นต่อค่านิยม ความนึกคิด และโลกทัศน์ของคนทั้งในระดับผู้นำและประชาชนชาวพุทธ ในประเทศไทยนี้???!!!


(ซึ่งถูกวางยาให้เสื่อมจางลงและไกลห่างจากพุทธศาสนาในเวลา 50 ปีนี้เท่านั้นเอง)


อนุโมทนา การอ้างอิงเนื้อหาข่าวบางส่วนจาก: www.buddhistchannel.tv

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น